List of content
เข้าใจ 6 ช่วงเศรษฐกิจ ก่อนเก็บกำไรใส่กระเป๋า
กลับมาพบกันอีกเช่นเคยนะครับ บทความนี้เราจะมาพูดกันในหัวข้อที่สำคัญมาก ๆ สำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งก่อนที่เราจะลงทุนอะไรสักอย่าง ควรต้องมีการหาข้อมูลเป็นอย่างดี เพื่อทำความเข้าใจถึงความแตกต่างในแต่ละประเภทการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะการลงทุน และผลประโยชน์ที่จะได้ความจากการลงทุน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนได้ถึงระดับความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลจะยอมรับได้ครับ
นอกจากปัจจัยที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว หลายคนอาจจะมองข้ามเรื่อง "ช่วงเศรษฐกิจ" ที่เหมาะสมแก่การลงทุนไป ผมและทีมงาน ThaiForexReview จึงได้นำทฤษฎีเกี่ยวกับช่วงเศรษฐกิจมาแชร์ให้คุณได้อ่านกัน เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบการลงทุนของตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดในการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนในอนาคตได้ครับ
ทฤษฎี ช่วงเศรษฐกิจ คืออะไร?
โดยทฤษฎีที่จะกล่าวถึงนี้ เรียกว่า “The Six Stages of Business Cycle” ของคุณ Martin J. Pring ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้มีการค้นคว้าวิจัย และถูกพัฒนาสู่การเป็นตัวชี้วัดของ "ช่วงเศรษฐกิจ" เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนครับ
ช่วงของเศรษฐกิจนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 6 ช่วงเศรษฐกิจ ดังนี้ครับ
1. ช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย
2. ช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
3. ช่วงภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว
4. ช่วงภาวะเศรษฐกิจขยายตัว
5. ช่วงภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรื่อง
6. และช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
โดยภาพรวมลักษณะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง และแนวทางในการลงทุนที่เหมาะสม ผมจะอธิบายให้ทุกท่านได้ทราบ ต่อไปนี้ครับ
ทำความรู้จักทฤษฎี The Six Stages of Business Cycle
ก่อนไปดูรายละเอียด ผมขอบอกก่อนว่า การวิจัยของ Martin J. Pring นั้น ได้พัฒนาสู่การเป็นของตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือในการพิจารณาเลือกการลงทุนเป็นอย่างมากครับ โดยในทฤษฎี The Six Stages of Business Cycle นี้ เขาได้แบ่งสินทรัพย์เพื่อการลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ พันธบัตร, หลักทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์ ตามรอบของ 6 ช่วงเศรษฐกิจ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ครับ
Stage 1 ช่วงภาวะเศรษฐกิจ ถดถอย
อย่างที่คุณทราบดีครับว่า ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราดอกเบี้ยของธนาคารมักจะแปรผกผันกับราคาพันธบัตร (Bond) เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มูลค่าของ Bond ก็จะลดลง ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง (Fed) ก็จะขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการว่างงาน และ GDP เป็นต้น หากเศรษฐกิจเริ่มเฟื่องฟูจนเกินไป Fed ก็จะเริ่มปรับ "ขึ้นอัตราดอกเบี้ย" แต่ถ้าหากเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวมากเกินไป Fed ก็จะเริ่มปรับ "ลดอัตราดอกเบี้ย" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครับ
และในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจจะเริ่มถดถอยลง การค้าเริ่มซบเซา ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มลดกำลังในการผลิต และลดต้นทุนต่าง ๆ ทำให้การว่างงานสูงขึ้น อีกทั้ง ยังทำให้มูลค่าตราสารหนี้เคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้ามกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย โดยที่เมื่ออัตราดอกเบี้ยขึ้น ราคาพันธบัตรจะลดลง ประกอบกับการที่มีรัฐบาลค้ำประกันไว้จึงมีความปลอดภัยครับ
ดังนั้น เมื่ออยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เราจึงควรลงทุนใน “ตราสารหนี้”
Stage 2 ช่วงภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำที่สุด
เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำสุด ๆ เป็นจังหวะในการเลือกเข้าเก็บหุ้นครับ เนื่องจากตลาดหุ้นมักจะวิ่งนำสภาวะเศรษฐกิจอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเป็นภาวะที่มองไม่เห็นโอกาส ไม่มีสภาพคล่องการค้าการขาย ธุรกิจอาจเกิดปัญหาสินค้าค้างสต็อกจำนวนมาก เกิดภาวะการว่างงานกระจายตัวไปทั่ว ประชาชนจึงไม่ค่อยมีกำลังซื้อ เพราะมีรายได้ลดลงครับ
ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนี้ จึงเหมาสมที่จะลงทุนใน "หลักทรัพย์" เพราะเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าแท้จริง เน้นหุ้นกลุ่มชี้นำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มหลักทรัพย์ หรือกลุ่มสินค้าบริโภค เช่น รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อสังหาฯ, วัสดุก่อสร้าง เป็นต้นครับ
Stage 3 ช่วงภาวะเศรษฐกิจ ฟื้นตัว
ช่วงเศรษฐกิจนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจโดยทั่วไปจะเริ่มดีขึ้น ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น ธุรกิจเริ่มกลับมามีกำไร ธนาคารและสถาบันทางการเงินเริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นการผลิตและการลงทุนของผู้ประกอบการได้มากขึ้น
จังหวะแบบนี้ เราสามารถเริ่มเข้าลงทุนใน "สินค้าโภคภัณฑ์" เช่น ทองคำ, เหล็ก, น้ำมัน, หรือสังกะสีก็ได้ครับ เพราะหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้จะมากขึ้น และราคาจะปรับตัวสูงขึ้น ที่สำคัญ คือ สินค้าโภคภัณฑ์มักปรับตัวก่อนภาวะเศรษฐกิจจริง จากการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคตนั่นเองครับ
Stage 4 ช่วงภาวะเศรษฐกิจ ขยายตัว
ในภาวะเศรษฐกิจขยายตัว หรือใน Stage 4 นี้ เป็นเวลาของการขายพันธบัตร (Bond) และหันมาลงทุนใน "หลักทรัพย์" ครับ เพราะเศรษฐกิจขยายตัว และดอกเบี้ยจะเริ่มเป็นขาขึ้น เพื่อลดความร้อนแรงในระบบเศรษฐกิจลง ส่งผลให้ราคา Bond ปรับตัวลดลง (ดอกเบี้ยขึ้น = Bond ลง) ส่วนราคาหุ้น และ Commodity ยังคงเป็นขาขึ้น
ดังนั้น ภาพรวมของเศรษฐกิจถือว่าค่อนข้างดี ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการลงทุน รวมไปถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น ทำให้การลงทุนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมาก ประชาชนมีสภาพคล่องในการซื้อสินค้าและบริการ ทำให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตสูงขึ้น จึงเป็นช่วงที่ควรลงทุนใน "หลักทรัพย์" ครับ
Stage 5 ช่วงภาวะเศรษฐกิจ รุ่งเรื่อง
ใน Stage 5 นี้ อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจเริ่มเติบโตช้าลง การจ้างงานเต็มที่ แรงงานเริ่มสามารถเลือกงาน และต้องการเงินเดือนสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทมีความต้องการแรงงานมาก แต่แรงงานว่างงานมีน้อย ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ส่งผลให้กำไรของบริษัทเริ่มลดลง
ถือเป็นช่วงเวลาที่จะเป็นจุด Peak ของตลาดหลักทรัพย์ ที่เต็มไปด้วยความโลภและความประมาท ผมขอแนะนำว่า ช่วงนี้ควรขายทำกำไรหุ้นบางตัว และเลือกถือหุ้นบางประเภทอย่างเช่น หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน, หุ้นกลุ่มวัตถุดิบ, และหุ้นกลุ่มวัฎจักรครับ
Stage 6 ช่วงภาวะเศรษฐกิจ ชะลอตัว
ในภาวะเศรษฐกิจนี้ จะมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงครับ จากการลงทุนและการบริโภคเกินกำลังการผลิตของประเทศ และอัตรา GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไม่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการลดความเชื่อมั่นใจการลงทุน เพราะต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้น เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นนั่นเองครับ
สิ่งที่ตามมา คือ อาจเกิดการลดกำลังการผลิต และอัตราการจ้างงาน ก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้น ช่วงเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวนี้ ขอแนะนำให้นักลงทุน "ถือเงินสด" เป็นหลักครับ
สรุปภาพรวม 6 ช่วงเศรษฐกิจ
ภาพรวมต่อจากจบช่วงเศรษฐกิจที่ 6 แล้ว ก็จะเข้าสู่สภาวะวิกฤตครับ หลังจากนั้นก็จะเป็นการกลับไปเริ่มต้นที่ช่วงที่ 1 ใหม่ วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากนักลงทุนเข้าใจว่า ทั้ง 6 ช่วงเศรษฐกิจจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือสามารถบอกได้ว่า ตอนนี้ประเทศกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจใด ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนของตนเองได้ เพื่อเลือกวิธีการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงเศรษฐกิจในขณะนั้นครับ
__________________________________
สุดท้ายนี้ การลงทุนทุกรูปแบบล้วนมีความเสี่ยง อยากให้คุณศึกษาพฤติกรรมของราคาสินทรัพย์นั้นให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน และหากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม สามารถติดตาม ThaiForexReview
ติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดการลงทุนได้ที่ : News
อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ : Blogs
รีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยม : Top Brokers