List of content
“วิกฤตต้มยำกุ้ง” ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไทยกลัวเกิดซ้ำอีกครั้ง เมื่อเงินบาทอ่อนค่าแตะ 38 บาท/ดอลลาร์
“เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” จุดเริ่มต้นของมหาวิกฤตร้ายแรงที่สะเทือนไปทั้งเอเชีย ไทยจะเผชิญกับวิกฤตนี้ซ้ำอีกหรือไม่?! เมื่อปัจจุบัน เงินบาทไทยแตะ 38 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี เรามาเรียนรู้บทเรียนประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไทยไม่อยากเจออีกครั้งอย่าง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” กันครับ
ทำความรู้จัก “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง”
วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คนต่างชาติเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “Asian Financial Crisis” เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น นับเป็นมหาวิกฤตที่ร้ายแรงมากเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ เรามาดู 3 สาเหตุหลักของวิกฤตนี้ ก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำการลอยตัวค่าเงินบาทกันครับ
สาเหตุประการแรก - การกู้ยืมเงินเพื่อเก็งกำไร
ประเทศไทย รวมถึงทั่วโลกในขณะนั้น กำลังเกิดแนวคิดเรื่อง “การเปิดเสรีการค้า” ทำให้รัฐบาลของเราจัดตั้ง “วิเทศธนกิจ” (Bangkok International Banking Facilities: BIBF) ขึ้นในปี 2535 โดยมีนโยบายเพื่อชักจูงการลงทุนจากชาวต่างชาติ ด้วยการ “ลดค่าธรรมเนียมการกู้ยืมเงินจากต่างชาติ” ทำให้การกู้ยืมเงินสามารถทำได้ง่ายขึ้น และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิกฤตทั้งหมดครับ
ขอบคุณรูปภาพจาก The standard
หลังจากที่มีนโยบายเช่นนี้ ทำให้หลายคนสบโอกาสในการทำกำไรจากธุรกิจกู้ยืมเงินจากต่างชาติ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ โดยหลักการ คือ “กู้ถูก ปล่อยแพง” ทุกท่านรู้หรือไม่ครับว่า ขณะนั้นการกู้ยืมเงินเพื่อทำธุรกิจกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 13% ส่วนการกู้ยืมเงินจากนายหน้าเหล่านี้มีอัตราดอกเบี้ยเพียง 10% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่นายหน้ากู้ยืมจากต่างชาติมีมูลค่าประมาณ 5-8% เท่านั้น ดังนั้น ธุรกิจนี้จึงเติบโตได้เร็วมาก ๆ ครับ สามารถดูได้จากรูปภาพประกอบด้านบน หัวข้อ “เงินกู้ต่างประเทศ” ที่จะเห็นได้ว่า เติบโตขึ้นทุกปีครับ
การเติบโตของธุรกิจเก็งกำไรจากการปล่อยกู้นั้น อีกหนึ่งสาเหตุมาจากนโยบาย “การตรึงค่าเงินบาท” ของรัฐบาล ที่ต้องการตรึงเงินบาทด้วยมูลค่า 25 บาท/ดอลลาร์ เพื่อใช้ชักจูงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน แต่กลับเป็นนโยบายที่ผิดพลาดมากครับ เพราะการตรึงค่าเงินนั้น นับเป็นการฝืนธรรมชาติ และกลไกตลาดในเรื่องของอุปสงค์-อุปทานอย่างหนึ่ง ดังนั้น แทนที่จะได้เงินขาเข้าจากนักลงทุนต่างชาติ แต่กลับได้ปริมาณการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลแทน เพราะผู้กู้ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินครับ
การกู้ยืมเงินในช่วงนั้นจึงเป็นไปอย่างบ้าคลั่งมากครับ เพราะไม่ใช่เพียงการกู้มาเพื่อทำธุรกิจ แต่ยังเป็นการกู้ยืมมาเพื่อใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ด้วย นับเป็นเทรนด์การกู้ยืมอย่างหนึ่งก็ว่าได้ครับ เพราะใครไม่กู้ก็เหมือนจะตกกระแสไป อีกทั้ง เศรษฐกิจในช่วงนั้นก็ “เหมือนจะไปได้สวย” ทำให้เกิดเจ้าสัวใหม่จำนวนไม่น้อยเลยครับ ธุรกิจที่ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ “อสังหาริมทรัพย์” ทั้งการสร้างโรงงาน และบ้านพักที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ที่ดินก็ราคาพุ่งสูงกว่าความเป็นจริงมาก ๆ ครับ ช่วงปี 2535 - 2538 แม้จะดูเฟื่องฟู แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น นับเป็นภาวะฟองสบู่ที่ใกล้ปริแตกเต็มทนครับ
สาเหตุประการที่ 2 - เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงชะลอตัว
แม้ว่าปัจจัยนี้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็นับว่ามีส่วนสำคัญเช่นกันครับ นั่นคือ เศรษฐกิจไทยที่ก่อนหน้านี้ไปได้ด้วยดีเพราะ “คู่ค้าคนสำคัญ” อย่างญี่ปุ่น แต่ในปี 2539 ญี่ปุ่นกลับมีเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก ทำให้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจระหว่างกัน เศรษฐกิจไทยจึงชะลอตัวตามไปด้วย ประกอบกับช่วงนั้น จีนก้าวเข้ามาเป็นเสือแห่งเอเชียอีกตัวด้วยกำลังการผลิต และค่าแรงที่ต่ำ
เศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง อีกทั้ง ยังได้รับผลกระทบหนักจนเข้าสู่ภาวะฟองสบู่แตก กระทบกับธุรกิจต่าง ๆ เป็นห่วงโซ่ในที่สุดครับ ซึ่งธุรกิจที่โดนกระทบแรก ๆ เลยก็คือ อสังหาฯ และธนาคารครับ ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นตึกร้างมากมายในช่วงนี้ โดยเฉพาะแลนด์มาร์คสำคัญอย่าง “สาธร ยูนีค ทาวเวอร์” ตึกสูงอันดับ 4 ของโลก จากการจัดอันดับเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานของวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งมาจนถึงปัจจุบัน
สาเหตุประการที่ 3 - ความเชื่อมั่นของไทย ความเชื่อมั่นของเงินบาท
สาเหตุสุดท้ายนี้ มาจากการขาดความเชื่อมั่น 3 ประการ คือ 1) ความเชื่อมั่นในการชำระหนี้ อันเริ่มต้นจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (BBC) ที่ปล่อยสินเชื่อหละหลวม เพราะปัญหาการทุจริตภายใน ทำให้ ธปท. ต้องสั่งเพิ่มทุนอยู่หลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ แม้ว่าจะมีกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) เข้ามาช่วยอุ้มก็ตาม ดังนั้น จึงเกิดความตระหนกในหมู่ประชาชนและนักลงทุน ทำให้มีการแห่ไปถอนเงินสดเป็นจำนวนมากจนธนาคารรับไม่ไหว เรื่องนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นไทยเป็นอย่างมาก กระทั่งมูดีส์ (Moody's) บริษัทจัดอันดับเครดิตพันธบัตร ก็ทำการลดการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ไทย จากการเล็งเห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเองก็ถอนเงินทุนออกด้วยเช่นกัน
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้กระทบต่อ 2) ความเชื่อมั่นของเงินบาท นักลงทุนต่างชาติ และกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Fund) จึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการทำกำไรจากค่าเงินที่อาจมีการปรับตัวลดลง ด้วยการ Short Sell หรือ “โจมตีค่าเงินบาท” ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีชายผู้ทำให้ธนาคารอังกฤษล่มอย่างจอร์จ โซรอส (George Soros) ด้วยเช่นกัน เขาทำนายว่า ค่าเงินบาทจะไม่สามารถตรึงราคาได้อีกต่อไป ดังนั้น นักลงทุนจำนวนมากจึงทำการเปิดออเดอร์เพื่อเก็งกำไร แม้ว่า ธปท. จะเข้ามาช่วยพยุงค่าเงินด้วยการอัดฉีดเงินดอลลาร์จำนวนมหาศาล จนทำให้เงินทุนระหว่างประเทศหลักแสนเหลือเพียงหลักพันดอลลาร์ แต่สุดท้ายเงินทุนนั้นก็ไม่เพียงพออีกต่อไป
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ คือ การลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนายอำนวย วีรวรรณ ซึ่งทำให้ 3) ความเชื่อมั่นของไทย ลดลงตามไปด้วย การยื้อครั้งสุดท้ายจึงจบลงด้วยการประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ของประธาน ธปท. นับเป็นการจบนโยบายที่นำมาสู่วิกฤต
ผลกระทบหลังจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง”
อย่างไรก็ตาม การประกาศลอยตัวค่าเงินยังไม่ใช่จุดจบอย่างแท้จริงครับ เพราะหลังจากที่เงินบาทหลุดจากการตรึงก็พุ่งสูงถึง 56 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ “หนี้เงินกู้จากต่างชาติเพิ่มเป็นเท่าตัว” จากแต่เดิมที่เงินบาทมีมูลค่า 25 บาท/ดอลลาร์ ดังนั้น ธุรกิจและสถาบันการเงินจำนวนมากจึงไม่สามารถรับพิษหนี้ครั้งนี้ไหว และปิดตัวไปในที่สุดครับ
จากนั้น จึงเข้าสู่ช่วง “โศกนาฏกรรม” อย่างแท้จริง คือ การที่คนล้มละลาย เป็นหนี้ ตกงาน จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย อีกทั้ง รัฐบาลก็ไม่มีเงินเหลือเพียงพออีกต่อไป ทำให้นักลงทุนต่างชาติวิตกและหวาดกลัวจน “ถอนทุนออกจากภูมิภาคเอเชีย” เพราะเกรงว่า ประเทศอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันจะประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ ดังนั้น วิกฤตนี้จึงกลายเป็นมหาวิกฤตที่กระทบต่อผู้คนจำนวนมากทั้งภายใน ภายนอก และทุกระดับชนชั้นครับ จนกระทั่งปัจจุบัน แม้ไทยจะสามารถใช้หนี้คืนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เข้ามาช่วยเหลือครบในปี 2546 แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถชำระเงินที่รัฐบาลนำมาอุดรอยรั่วนี้ได้หมดครับ
เงินบาทอ่อน รักษาการนายกฯ หวั่นเผชิญ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” อีกครั้ง
ปัจจุบัน เงินบาทไทยอ่อนค่าหนักสุดในรอบ 16 ปี 6 เดือน แตะ 38.11 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการแทนนายกฯ หวั่นไทยจะซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งในอดีตอีกครั้ง จึงกำชับให้กระทรวงการคลังเร่งหารือกับ ธปท. เพื่อประคองให้ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนลงในครั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าสุดในภูมิภาค ดังนั้น การดำเนินโยบายของกระทรวงการคลัง และ ธปท. จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปครับ เพราะค่าเงินต้องเป็นไปตามกลไกตลาด จะไปฝืนจนทำให้เกิดวิกฤตดังเช่นที่ผ่านมาไม่ได้เป็นอันขาดครับ
ประวัติศาสตร์บาดแผลเมื่อ 20 กว่าปีก่อน นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยเตือนใจของใครหลายคน ดังนั้น มันจึงยากที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง แต่หากเกิดขึ้นก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่มีความคล้ายคลึงกันมากว่าครับ อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลควรเป็นห่วงขณะนี้ คือ เศรษฐกิจที่โตช้า แถมยังเพิ่งจะฟื้นตัวจากการเผชิญโรคระบาดอีกด้วย
ประวัติศาสตร์ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราเรียนรู้ และจดจำ เพื่อทำปัจจุบันให้ดีครับ ซึ่ง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ก็เช่นกัน แม้ว่ามันจะโหดร้ายกับคนรุ่นก่อนมาก แต่ผมเชื่อว่า พวกเขาจะจดจำไว้เป็นบทเรียน และหวังว่า รัฐบาลจะพยายามอย่างที่สุดเพื่อไม่ให้เราไปถึงจุดนั้นครับ เพราะการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนก็เป็น “หน้าที่หนึ่ง” ของรัฐบาล
___________________________________
สุดท้ายนี้ การลงทุนทุกรูปแบบล้วนมีความเสี่ยง อยากให้คุณศึกษาพฤติกรรมของราคาสินทรัพย์นั้นให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน และหากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม สามารถติดตาม ThaiForexReview
ติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดการลงทุนได้ที่ : News
อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ : Blogs
รีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยม : Top Brokers