List of content
ภาษีการลงทุนคืออะไร นักลงทุนทุกคนต้องเสียภาษีนี้หรือไม่?! อัปเดตทุกสินทรัพย์ 2023
เงินปันผลต้องเสียภาษีไหม? เทรด Forex ต้องเสียภาษีหรือไม่? ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนหรือปลายปี มักจะเป็นช่วงที่หลาย ๆ ท่านได้รับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินปันผลจากสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ แต่ทราบกันหรือไม่ครับว่า เงินเหล่านี้จัดเป็นเงินได้ประเภทหนึ่ง ดังนั้น Thaiforexreview จะพาทุกท่านไปรู้จัก “ภาษีการลงทุน” และอัปเดตว่า สินทรัพย์ใดบ้างที่มีการจัดเก็บภาษีการลงทุนนี้ครับ
ภาษีการลงทุนคืออะไร?
-
ภาษี คือ เงินตราที่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจนำส่งให้แก่รัฐหรือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เท่ากับรัฐ เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การศึกษา การแพทย์ โครงการรัฐ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในระบบราชการ ซึ่ง “ประชาชนชาวไทยทุกคน” มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษี ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมครับ
-
ภาษีการลงทุน คือ เงินตราที่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศจะต้องนำส่งให้แก่รัฐหรือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เท่ากับรัฐ เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งผู้เสียภาษีการลงทุน คือ “ผู้ที่มีรายได้จากการลงทุน” ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนลดหรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอน และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ครับ อย่างไรก็ดี สินทรัพย์บางประเภทบริษัทนายหน้าอาจรับผิดชอบหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งให้แก่หน่วยงานรัฐไว้แล้วครับ
แม้ว่าประเทศไทยจะมีการจัดเก็บภาษีการลงทุนจากบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีรายได้จากการลงทุน แต่ก็ไม่ใช่การลงทุนทุกประเภทที่จะต้องเสียภาษีดังกล่าวครับ ดังนั้น Thaiforexreview จะพาทุกท่านไปดูว่า สินทรัพย์ใดบ้างที่ต้องเสียและไม่ต้องเสียภาษีการลงทุน ดังนี้ครับ
อ้างอิงจากการแก้ไขประมวลรัษฎากรตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 บุคคลทั่วไปที่มีรายได้จากการลงทุนในกองทุนรวม “มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ดังนี้ครับ
ภาษีกองทุนรวม |
บุคคลธรรมดา (นักลงทุนไทย) |
เงินปันผล (Dividend) |
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% *หมายเหตุ หากเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี |
เงินได้จากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain) |
ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา *หมายเหตุ หากขายกองทุนประเภท LTF และ RMF ก่อนกำหนด จะถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งจะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า |
โดยสรุป คือ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม กำไรที่เกิดจากการซื้อขายกองทุนรวมจะได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่เงินปันผลจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่อย่างไรก็ดี หากกองทุนนั้นไม่มีเงินปันผลก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีใด ๆ ทั้งสิ้นนั่นเองครับ
อ้างอิงจากภาษีอากรกับการลงทุนในหลักทรัพย์ของกรมสรรพากร และร่างกฎหมายภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) หรือภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด บุคคลทั่วไปที่มีรายได้จากการลงทุนในหุ้น/ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า “มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีอื่น ๆ” ดังนี้ครับ
ภาษีหุ้น |
บุคคลธรรมดา (นักลงทุนไทย) |
เงินปันผล (Dividend) |
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% |
เงินได้จากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain) |
ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) |
เก็บจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น ซึ่งนักลงทุนจะต้องจ่ายในอัตรา 7% |
ภาษีอากรแสตมป์ (Stamp Duty) |
เก็บจากการโอนตราสารทางการเงิน โดยผู้โอนต้องติดอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาท สำหรับทุกจำนวน 1,000 บาท |
ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax) |
ถือเป็นภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.11% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น โดยให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้เก็บภาษีนี้นำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน *หมายเหตุ ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ.2534 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่า ในช่วงแรกที่มีการกลับมาจัดเก็บภาษีนี้จะมีอัตราลด ดังนี้
|
โดยสรุป คือ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในหุ้น คุณจะต้องเสียภาษี 2 ส่วน คือ 1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับกองทุนรวม และ 2) ภาษีอื่น ๆ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรแสตมป์ และภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภาษีขายหุ้น) ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับใช้ในปีนี้ครับ
อ้างอิงจากภาษีอากรกับการลงทุนในหลักทรัพย์ของกรมสรรพากร บุคคลทั่วไปที่มีรายได้จากการลงทุนในเงินฝาก/ พันธบัตร/ ตราสารหนี้ “มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ดังนี้ครับ
-
ภาษีเงินฝาก
ภาษีเงินฝาก |
บุคคลธรรมดา (นักลงทุนไทย) |
ดอกเบี้ย (Interest) |
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% *หมายเหตุ ผู้เสียภาษีนี้จะต้องมียอดรวมดอกเบี้ยทั้งหมดมากกว่า 20,000 บาท ภายใน 1 ปีปฏิทิน |
*ข้อควรรู้! การออมเงินกับธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยเงินฝาก หากยอดรวมดอกเบี้ยเกินเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ฝากจะต้องเสียภาษีเงินได้ แต่หากคุณออมเงินกับบริษัทประกันในลักษณะประกันสะสมทรัพย์ คุณจะได้รับเงินออมควบคู่ไปกับความคุ้มครองโดยไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้ง ยังช่วยลดหย่อนภาษีได้ หากมีอายุกรมธรรม์มากกว่า 10 ปีขึ้นไปครับ
-
ภาษีพันธบัตร/ ตราสารหนี้
ภาษีพันธบัตร/ ตราสารหนี้ |
บุคคลธรรมดา (นักลงทุนไทย) |
ดอกเบี้ย (Interest) |
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% |
เงินปันผล (Dividend) |
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% |
ภาษีอากรแสตมป์ (Stamp Duty) |
เก็บจากการโอนตราสารทางการเงิน โดยผู้โอนต้องติดอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาท สำหรับทุกจำนวน 1,000 บาท |
โดยสรุป คือ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากรวม 20,000 บาทขึ้นไปใน 1 รอบปีปฏิทิน คุณจะต้องเสียภาษีในอัตรา 15% ขณะเดียวกัน หากคุณลงทุนในพันธบัตร/ ตราสารหนี้ คุณก็จะต้องเสียภาษีจากการได้รับดอกเบี้ย 15% เงินปันผล 10% และหากมีการโอนตราสารทางการเงินก็จะมีค่าอากรแสตมป์ครับ
อย่างไรก็ดี หากคุณได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาท หรือได้รับดอกเบี้ย/ เงินปันผล รวมกับรายได้อื่น ๆ ที่ใช้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถึงฐานภาษี 15% ก็มีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกินได้ โดยสามารถยื่นภาษีแสดงรายได้กับสรรพากรเพื่อขอคืนภาษีที่ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย หรือจะเลือกปล่อยให้หักไปก็ได้เช่นกันครับ
อ้างอิงจากพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ล่าสุด บุคคลทั่วไปที่มีรายได้จากการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี “มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ดังนี้ครับ
ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี |
บุคคลธรรมดา (นักลงทุนไทย) |
เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล |
หักภาษีเงินได้ในอัตรา 15% |
ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล |
หักภาษีเงินได้ในอัตรา 15% |
โดยสรุป คือ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งมีเงินได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยน คุณจะต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 15% โดยสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนทำธุรกรรมผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. คุณจะได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงินได้ครับ
แม้ว่า Forex จะยังไม่ได้รับการรับรองในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้ถูกห้ามเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่มีเงินได้จากการเทรด Forex ก็ยังคง “มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” เนื่องจากเงินดังกล่าวถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 อันได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุนครับ โดยรายละเอียดการจัดเก็บภาษีมีดังนี้
เงินได้สุทธิ |
เงินได้สุทธิจำนวนสูงสุดของขั้น |
อัตราภาษี |
ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้น |
ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น |
0–150,000 |
150,000 |
5 |
ยกเว้น |
0 |
150,000–300,000 |
150,000 |
5 |
7,500 |
7,500 |
300,000–500,000 |
200,000 |
10 |
20,000 |
27,500 |
500,000–750,000 |
250,000 |
15 |
37,500 |
65,000 |
750,000–1,000,000 |
250,000 |
20 |
50,000 |
115,000 |
1,000,000–2,000,000 |
1,000,000 |
25 |
250,000 |
365,000 |
2,000,000–5,000,000 |
3,000,000 |
30 |
900,000 |
1,265,000 |
เกิน 5,000,000 ขึ้นไป |
|
35 |
|
|
โดยสรุป คือ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ลงทุนใน Forex คุณก็ยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 ภายในเดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไปครับ
“Forex มีโอกาสที่จะได้รับการรับรองในประเทศไทยหรือไม่!?”
ทำไมต้องเสียภาษีการลงทุน?
หากถามว่า ทำไมต้องเสียภาษีการลงทุน? นั่นก็เพราะว่า พวกเราถือเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้ภายในหรือภายนอกประเทศตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ดังนั้น พวกเราจึงต้องเสียภาษีดังกล่าวนั่นเองครับ
เลี่ยงหรือหนีภาษีได้หรือไม่?
หลาย ๆ ท่านอาจเกิดคำถามว่า เราสามารถเลี่ยงหรือหนีภาษีได้หรือไม่? ซึ่งถ้าให้ผมตอบตรง ๆ ก็ต้องบอกว่า “ทำได้ครับ” แต่หากกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง คุณจะต้องโดนค่าปรับอย่างมหาศาล ดังนั้น มันจึงเป็นการดีกว่าที่จะปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน โดยการยื่นภาษีให้ถูกต้องครับ อย่างไรก็ดี เราสามารถวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
การวางแผนลดหย่อนภาษี
นักลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะมีรายได้จากช่องทางอื่น ๆ นอกจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น การวางแผนเพื่อบริหารภาษีจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยทุกท่านสามารถลดหย่อยภาษีได้ดังนี้ครับ
-
ลงทุนในสินทรัพย์ที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ อาทิ กองทุนรวมประเภท SSF หรือ RMF โดยสามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 30% รวมไม่เกิน 500,000 บาท
-
วางแผนซื้อประกันเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี อาทิ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพหรือชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตควบการลงทุน โดยสามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท และประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่สามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
-
การกู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งหมดข้างต้นนี้ ถือเป็นรายการที่สามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้ แต่อย่างไรก็ดี ทุกท่านจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนทำธุรกรรมใด ๆ ครับ แต่ก็ถือเป็นทางเลือกการลดหย่อนภาษีที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้ว เรายังได้สิทธิพิเศษอื่น ๆ จากรายการดังกล่าวด้วยครับ
สรุป
โดยสรุป ภาษีการลงทุนถือเป็นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลประเภทหนึ่ง ซึ่งประชาชนชาวไทยทั่วไปที่มีรายได้จากการลงทุนจะต้องเสียภาษีดังกล่าว ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม แตกต่างตามสินทรัพย์ที่ลงทุนครับ ดังนั้น ทุกท่านจึงควรศึกษารายละเอียดการจัดเก็บภาษีในแต่ละสินทรัพย์ให้รอบคอบ และอย่าลืมวางแผนลดหย่อนภาษีให้ดีด้วยนะครับ ด้วยความปรารถนาดีจาก Thaiforexreview
Source: กรมสรรพากร 1, กรมสรรพากร 2, กรมสรรพากร 3, กรมสรรพากร 4, SET, Krungsri, Krungthai, Trade With Auntie, PeerPower, Wealth Me Up
___________________________________
หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม สามารถติดตาม ThaiForexReview
ติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดการลงทุนได้ที่ : News
อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ : Blogs
รีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยม : Top Brokers