List of content
จะเกิดอะไรขึ้นหากสหรัฐฯ ผิดนัดชําระหนี้?
สหรัฐฯ เงินหมดคลัง เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ หวั่นกระทบการเงินโลก! นับว่าเป็นข่าวใหญ่ที่หลาย ๆ คนจับตามองมากเป็นพิเศษ เพราะหากสหรัฐฯ เดินมาถึงทางตัน นี่จะเป็นการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกโดยตรงในประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้มีผลกระทบมากมายตามมาครับ
ทำไมสหรัฐฯ จึงเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้?
ต้องเท้าความก่อนว่า ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ ชนเพดานไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่เป็นปัญหาที่ถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 โดยขณะนั้น Janet Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาหนี้สาธารณะสหรัฐฯ ที่ใกล้ชนเพดาน 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ อีกทั้ง ยังให้ข้อมูลอีกว่า หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ทะลุ 31 ล้านล้านดอลลาร์ มาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2022
ที่มารูปภาพ : Aljazeera
ปัญหาหนี้ชนเพดานของรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่ง Janet Yellen ได้ส่งจดหมายเตือนถึง Kevin McCarthy ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2023 ว่า สหรัฐฯ อาจเงินหมดคลังจนเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สาธารณะในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น สภาคองเกรสจะต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุดเพื่อเพิ่มหรือระงับเพดานหนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในระยะยาวว่า รัฐบาลจะสามารถดำเนินการชำระเงินต่อไปได้
ขณะเดียวกัน สำนักงานงบประมาณรัฐสภาก็ได้ออกมาแถลงการณ์เตือนว่า มีความเสี่ยงอย่างมากที่คลังจะหมดเงินในช่วงต้นเดือนมิถุนายน เนื่องจากรายได้จากการเก็บภาษีในเดือนเมษายนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้ง การจ่ายภาษีในอนาคตก็ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเผชิญกับหายนะทางเศรษฐกิจและการเงิน หากล้มเหลวกับการแก้ปัญหาครั้งนี้ ซึ่งเหลืออีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังคงไร้ทางออก
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากสหรัฐฯ ผิดนัดชําระหนี้
แม้จะกล่าวว่า การผิดนัดชำระหนี้ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของสหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สหรัฐฯ เคยผิดนัดชำระหนี้ทางเทคนิค (ชำระล่าช้า) มาก่อนหน้านี้ในปี 1979 และเคยเผชิญกับปัญหาหนี้ชนเพดานมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็รอดมาได้จากการเพิ่มวงเงินก่อหนี้ และเลื่อน X Date (วันผิดนัดชำระหนี้) มาโดยตลอด ซึ่งหากครั้งนี้รัฐบาลสหรัฐฯ เดินมาถึงทางตันจริง ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้น หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้มีดังนี้ครับ
1. การเงินโลกวุ่นวาย
ระบบการเงินโลกในปัจจุบันพึ่งพาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์เป็นหลัก หรืออาจกล่าวได้ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้น หากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในปัจจุบันผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาดโลก ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การสูญเสียความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ มีการปรับตัวลดลง การหยุดชะงักของการค้าระหว่างประเทศ และการหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญในตลาดเงิน จากระดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ที่ลดลง
2. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้น สภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ (Council of Economic Advisers: CEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสำนักงานบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนักวิจัยจากภายนอกต่างมีความเห็นตรงกันว่า การผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะก่อให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ เศรษฐกิจจะพลิกกลับด้านอย่างรวดเร็ว จากเติบโตจะกลายเป็นถดถอย
ทั้งนี้ ระดับความเสียหายจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการผิดนัดชำระหนี้ ตลอดจนความสามารถในการฟื้นฟูปัญหาของรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้น หากการผิดนัดชำระหนี้ยืดเยื้อก็จะนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจ้างงานที่อาจลดลงมากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ 1 สัปดาห์ และหากยืดเยื้อถึง 6 สัปดาห์ จำนวนผู้ตกงานจะพุ่งสูงถึง 7 ล้านคน
ตัวเลขการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ จะนำไปสู่การลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจถดถอยในลำดับต่อไป โดย Moody's คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวเกือบครึ่งเปอร์เซ็นต์ในการผิดนัดชำระหนี้ 1 สัปดาห์ ซึ่งหากยืดเยื้อถึง 6 สัปดาห์ เศรษฐกิจจะหดตัวกว่า 4% และผลกระทบจะฝังรากลึกนานนับทศวรรษ
3. สะท้อนการบริหาร กระทบการเมือง
ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็อาจหมายถึงความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาลที่ย่ำแย่ อีกทั้ง ยังส่งต่อความน่าเชื่อถือทางการเมือง โดยส่งผลต่อการเลือกตั้งในวาระถัดไป และนโยบายสาธารณะในอีกหลายปีข้างหน้าด้วยเช่นกัน
4. ชะลอสวัสดิการ คืนภาษีช้า
หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่าจะทางใด พลเมืองชาวอเมริกันที่ได้รับสวัสดิการประกันสังคมรายเดือนกว่า 66 ล้านคน จะได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องชะลอหรือระงับการจ่ายเงินให้กับคนกลุ่มนี้ เพื่อนำเงินไปใช้แก้ปัญหาหนี้สาธารณะ
โดยจากรายงานของคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อประกันสังคมและโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาล (National Committee to Preserve Social Security and Medicare: NCPSSM) ระบุว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากเงินประกันสังคมเกือบ 60% พึ่งพาเงินจากประกันสังคมเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ และอีก 40% พึ่งพาเงินประกันสังคมเกือบทั้งหมด
นอกจากสวัสดิการประกันสังคมรายเดือนแล้ว สวัสดิการอื่น ๆ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหาร ค่าเช่า และค่าสาธารณูปโภคก็อาจถูกชะลอหรือระงับด้วยเช่นกัน ดังนั้น การที่เงินช่วยเหลือเหล่านี้มาล่าช้าไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ก็อาจทำให้ชาวอเมริกันจำนวนหลายล้านคนหลุดออกจากระบบให้ความช่วยเหลือได้ครับ
5. เครดิตลด ดอกเบี้ยเพิ่ม
การผิดนัดชำระหนี้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ และอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต) ที่ลดลง ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์ประเภทพันธบัตรรัฐบาลที่เป็นตราสารในการกู้ยืมเงินจากรัฐบาลมีเครดิตลดลงตามไปด้วย ดังนั้น พันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในปัจจุบันจะสูญเสียความเชื่อมั่นในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยครับ
อันดับเครดิตที่ลดลงนี้จะส่งผลให้ต้นทุนและอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยจากการวิเคราะห์ของ Brookings Institution ระบุว่า ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลจะสูงขึ้นกว่า 750,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงทศวรรษหน้า
สิ่งที่ชาวอเมริกันต้องเผชิญในลำดับถัดมา คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ บัตรเครดิต และการจำนองที่เพิ่มสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนของกระทรวงการคลัง เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้ ดังนั้น ธนาคารจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อแก่ผู้ที่ต้องการกู้ยืมเงิน
6. อิทธิพลของดอลลาร์ลดลง
ปัจจุบันดอลลาร์ก็มีแววเสื่อมค่าอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก จากการที่จีนและรัสเซียร่วมมือกันลดอำนาจเงินดอลลาร์ลง และหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้จะยิ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้โหมกระหน่ำมากยิ่งขึ้น เพราะอันดับความน่าเชื่อถือที่ลดลงจะทำให้บทบาทของเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง ผลักดันให้หลายประเทศมองหาทางเลือกอื่นที่น่าเชื่อถือมากกว่า
ความเชื่อมั่นที่ลดต่ำลงจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีมูลค่าลดลง ความผันผวนมากขึ้น ความต้องการซื้อลด สภาพคล่องน้อย และส่งผลให้ความต้องการถือครองลดลงตามไปด้วยครับ อีกทั้ง ยังส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น และนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อในลำดับถัดไป
7. ตลาดเงินปั่นป่วน ตลาดทุนย่อยยับ
ตลาดการเงินและตลาดทุนจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่ ดังเช่นบทเรียนในอดีตที่สหรัฐฯ มีการขยายเพดานหนี้จนทำให้เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2007 แม้ว่าปัญหาจะถูกแก้ไขในวินาทีสุดท้าย แต่ตลาดเงินและตลาดทุนก็ยับเยิน Moody's Analytics ชี้ให้เห็นว่า หุ้นสูญเสียมูลค่าไปมากถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าในช่วงดังกล่าว ปัญหาที่ตามมาหลังจากนั้น คือ ความมั่งคั่งในครัวเรือนสหรัฐฯ ประมาณ 12 ล้านล้านดอลลาร์ จะถูกทำลายลงนั่นเองครับ
สรุป
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ เดินเข้าสู่การผิดนัดชำระหนี้จริง จะส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนพลเมืองอเมริกันหลายล้านคน อีกทั้ง ยังส่งผลต่อผู้คนทั่วโลกด้วยเช่นกัน เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจในปัจจุบัน และเงินดอลลาร์ก็ถูกใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทั่วโลกครับ
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ จะเดินไปสู่ทางตันนี้หรือไม่ ยังเป็นประเด็นสำคัญที่น่าจับตามอง เพราะหากผิดนัดชำระหนี้จริง สหรัฐฯ จะสูญเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาล ไม่ใช่เพียงอันดับความน่าเชื่อถือที่ลดลงเท่านั้น กระนั้น เวลาที่กระชั้นเข้ามา แต่ปัญหายังคงไร้ทางออกก็อาจทำให้สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกันครับ
Source : Thairath, Prachachat, Nerdwallet, Ofdollarsanddata, CNN
______________________________________________
หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม สามารถติดตาม ThaiForexReview
ติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดการลงทุนได้ที่ : News
อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ : Blogs
รีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยม : Top Brokers