List of content
ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) คืออะไร? เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุนจริงหรือ?
หากคุณต้องการป้องกันความเสี่ยงในการลงทุน คุณจะนึกถึงอะไรครับ? มีตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) อยู่ในลิสต์หรือไม่ ในบทความนี้ ผมจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักตราสารทางการเงินชนิดนี้กันครับว่า มันคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร มีความเสี่ยงหรือไม่ และเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุนจริงหรือ?
ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) คือ สัญญาทางการเงินที่มีมูลค่าการซื้อขายขึ้นอยู่กับสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) เช่น หุ้น, สินค้าโภคภัณฑ์, สกุลเงิน หรือดัชนี โดยบุคคล 2 ฝ่ายขึ้นไป สามารถตกลงซื้อขายตราสารอนุพันธ์ได้ผ่านสัญญาในรูปแบบการซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (OTC)
ด้วยเหตุนี้ มูลค่าของตราสารอนุพันธ์จึงมีการเปลี่ยนแปลงตามสินทรัพย์อ้างอิงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ตราสารอนุพันธ์จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของราคาสินทรัพย์หรือวัตถุดิบที่ผู้ซื้อต้องการในอนาคต อีกแง่หนึ่ง มันยังถูกใช้เพื่อการเก็งกำไรของนักลงทุนด้วยครับ เพราะมันสามารถซื้อขายได้มากกว่าจำนวนที่มีอยู่จริง
กระนั้น ตราสารอนุพันธ์ถือเป็นสัญญาทางการเงินที่คาดว่า มีต้นกำเนิดมาอย่างยาวนานและอาจมากกว่า 2,000 ปี เนื่องจากมีหลักฐานหลายอย่างที่ชี้ว่า มันปรากฏขึ้นทั้งในยุคเมโสโปเตเมีย, กรีก, โรมัน และยุโรป ก่อนจะแพร่หลายในปัจจุบันครับ เรียกว่า เกิดมาพร้อม ๆ กับการแลกเปลี่ยนซื้อขายของมนุษยชาติเลยล่ะครับ
ตราสารอนุพันธ์ส่วนใหญ่ในตลาดจะมี 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้ครับ
-
Futures
ตราสารอนุพันธ์ประเภทฟิวเจอร์ส (Futures) เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีการซื้อขายในปัจจุบันและส่งมอบในอนาคต กล่าวคือ ผู้ซื้อและผู้ขายจะตกลงทำสัญญาโดยยึดเอาราคาของสินทรัพย์ ณ วันที่ทำสัญญาเป็นหลัก จากนั้น ผู้ขายจะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในอนาคตตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
-
Forwards
ตราสารอนุพันธ์ประเภทฟอร์เวิร์ด (Forwards) เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีความคล้ายคลึงกับ Futures แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ Forwards จะซื้อขายสัญญานอกตลาดหลักทรัพย์ (OTC) ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถปรับแต่งข้อกำหนดของสัญญา รวมถึงกระบวนการชำระเงินได้ ทำให้ Forwards มีความเสี่ยงสูงขึ้น
-
Swaps
ตราสารอนุพันธ์ประเภทสว็อป (Swaps) เป็นสัญญาแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต กล่าวคือ ผู้ทำสัญญามีการตกลงที่จะแลกเปลี่ยนภาระระหว่างกันในอนาคตตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยฝ่ายหนึ่งจะจ่ายด้วยอัตราลอยตัว ขณะที่อีกฝ่ายจะจ่ายด้วยอัตราคงที่ สินทรัพย์ที่ถูกนำมาแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่ คือ อัตราดอกเบี้ย และเงินตราต่างประเทศ
-
Options
ตราสารอนุพันธ์ประเภทออปชัน (Options) เป็นสิทธิ์ในการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิง โดยผู้ขายจะขายสัญญาสิทธิ์ซื้อ (Call Option) หรือสิทธิ์ขาย (Put Option) ให้แก่ผู้ซื้อสัญญา ซึ่งผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าพรีเมียม (Premium) ในการซื้อสิทธิ์ แต่จะใช้สิทธิ์หรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ขายสัญญามีหน้าที่ต้องเตรียมสินค้าไว้ หากผู้ซื้อขอใช้สิทธิ์
สินค้าหรือสินทรัพย์ที่ใช้อ้างอิง (Underlying Asset) ของตราสารอนุพันธ์ มีดังนี้
-
ตราสารทุน เช่น หุ้น และดัชนีหุ้น
-
ตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และอัตราดอกเบี้ย
-
สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น พลังงาน, โลหะมีค่า และสินค้าทางการเกษตร
-
เงินตราและดัชนีราคา เช่น อัตราแลกเปลี่ยน, คาร์บอนเครดิต และดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์
ตราสารอนุพันธ์มีประโยชน์และความสำคัญต่อทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจ ดังนี้
1. ประโยชน์ของตราสารอนุพันธ์ต่อนักลงทุน
นักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ในประเด็นดังต่อไปนี้
-
การป้องกันความเสี่ยง
นักลงทุนรายย่อยสามารถลดการขาดทุนได้จากการซื้อตราสารอนุพันธ์ประกอบกับการซื้อสินทรัพย์จริง จากนั้น นำผลกำไรและขาดทุนมาถัวเฉลี่ยกัน แต่หากเป็นนักลงทุนระดับสถาบัน ตราสารอนุพันธ์ถือว่ามีความจำเป็นเป็นอย่างมาก เพราะมันจะช่วยกำหนดเงินที่ใช้ซื้อสัญญา และทำให้มั่นใจได้ว่า คุณจะได้รับสินค้าในราคานั้นจริง ไม่ว่าจะเกิดเหตุเปลี่ยนแปลงใดขึ้นครับ ถือเป็นการลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น
-
การทำกำไรทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง
สินทรัพย์บางประเภทอาจทำกำไรได้เพียงตลาดขาขึ้น แต่หากเป็นการซื้อขายผ่านตราสารอนุพันธ์ นักลงทุนจะสามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง ซึ่งเป็นประโยชน์มากในช่วงตลาดขาลงครับ
-
โอกาสในการเข้าถึงสินทรัพย์ต่าง ๆ
เนื่องจากตราสารอนุพันธ์มีสินทรัพย์อ้างอิงหลายประเภท ครอบคลุมตลาดต่าง ๆ อย่างมากมาย การซื้อขายสัญญาก็ใช้ต้นทุนน้อยกว่าการซื้อขายสินทรัพย์จริง เนื่องจากสามารถใช้ Leverage ในการซื้อขาย อีกทั้ง ยังสามารถวางเงินประกันส่วนหนึ่งของมูลค่าสัญญาได้ ทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้ด้วยเงินที่จำกัด มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าสินทรัพย์นั้นโดยตรง
2. ประโยชน์ของตราสารอนุพันธ์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ
ตราสารอนุพันธ์มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ โดยเน้นไปที่ธุรกิจที่มีการนำเข้าและส่งออก คือ การเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง เพราะผู้ประกอบธุรกิจส่วนมากมักจะมีการนำเข้าวัสดุหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ยาก ด้วยปัจจัยที่อาจส่งผลต่อราคาสินค้าต่าง ๆ แต่ตราสารอนุพันธ์จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนการซื้อขายสินค้า หรือแม้แต่อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ทำสัญญาได้ ทำให้สามารถคำนวณเงินที่ใช้จ่ายและหมุนเวียนภายในองค์กรต่อไปได้ครับ
แม้ตราสารอนุพันธ์จะมีประโยชน์และความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่เรามาดูความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อลงทุนในตราสารอนุพันธ์กันครับ
1. ความเสี่ยงจากตลาด
ความเสี่ยงประการแรกที่ผู้ซื้อสัญญาอาจเจอ คือ ความเสี่ยงจากตลาด ซึ่งเกิดจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ผลลัพธ์ที่คาดการณ์ไว้ลดลงหรืออาจสูญเสียไปทั้งหมด ดังนั้น การเพิ่มพูนความรู้ การติดตามข่าวสาร และการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากครับ
2. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ค่าเงินมีความผันผวนตลอดเวลา ทั้งแข็งค่าและอ่อนค่าจากปัจจัยต่าง ๆ บางปัจจัยก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ วันนี้แข็งค่า วันข้างหน้าก็อาจจะอ่อนค่าได้ครับ นั่นทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยใช้สกุลเงินต่างประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งตราสารอนุพันธ์ก็เช่นกัน ดังนั้น หากอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงไป นั่นจึงหมายถึง เราต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นหรือลดลงในการซื้อขาย ทำให้ส่งผลต่อกำไรขาดทุนต่อไปครับ
3. ความเสี่ยงจากนโยบาย
อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม คือ ความเสี่ยงจากนโยบาย เพราะมันอาจเกิดปัญหาอย่างการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, อัตราดอกเบี้ย หรือนโยบายอื่นใดที่อาจส่งผลติดต่อสัญญาตราสารอนุพันธ์ได้ครับ
4. ความเสี่ยงจากคู่สัญญา
นอกจากความเสี่ยงข้างต้นแล้ว คุณอาจจะเผชิญความเสี่ยงจากคู่สัญญาได้ ทั้งผลการดำเนินงาน, การเลิกกิจการ และการหลีกเลี่ยงสัญญา เป็นต้น สำหรับฝั่งผู้ขายสัญญาเองก็ต้องเผชิญความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ซื้อด้วยเช่นกัน
สรุป
โดยสรุปแล้ว ตราสารอนุพันธ์ก็คือ ตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่ใช้สินทรัพย์อ้างอิงในการอ้างถึงมูลค่า ผู้ทำสัญญาสามารถซื้อขายตราสารอนุพันธ์ด้วยราคาขณะที่ทำสัญญา จากนั้นผู้ขายสัญญาค่อยส่งมอบสินค้าในอนาคต ซึ่งหลักการดังกล่าวจะช่วยให้คู่สัญญากำหนดมูลค่าของสินทรัพย์นั้น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้น ดังนั้น มันจึงถูกใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการซื้อขายนั่นเองครับ
แม้ว่านักลงทุนรายย่อยจะสามารถใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อลดผลขาดทุน ทำให้เข้าถึงสินทรัพย์ในตลาดต่าง ๆ ได้ด้วยต้นทุนที่ลดลง แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่มีความรู้ ดังนั้น ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่จะลงทุนให้ดีก่อน เพราะมิฉะนั้น คุณอาจสูญเสียเงินทั้งหมดได้ครับ และอย่าลืมว่า สัญญาอนุพันธ์นั้นมีผลผูกพันจะไม่ทำตามไม่ได้ครับ
Source : CFA Institute, Finnomena, Peerpower, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 1, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และทันหุ้น
หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม
สามารถติดตามความรู้เกี่ยวกับ Forex ได้ทางเว็บไซต์ www.thaiforexreview.com
ติดตามความเคลื่อนไหวและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Thaiforexreview
ติดตามข่าวสารการลงทุนและบทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์ได้ที่ Forex Analysis
อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ Blogs
อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมได้ที่ Top Brokers