List of content
ตุรกี เจอวิกฤตในรอบ 10 ปี !
“ตุรกีเจอวิกฤตหนักในรอบ 10 ปี เนื่องจากค่าเงินที่อ่อนตัวลงถึง 90% โดยถือเศรษฐกิจได้มีทิศทางตรงกันข้ามกับอดีตที่เคยเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนภายในประเทศได้รับความเดือดร้อน”
ในอดีตตุรกีได้รับการขนานนามว่า “เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่” ที่ถือว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แต่ขณะนี้ ตุรกีได้พบเจอกับวิกฤต ค่าเงินที่อ่อนค่าลงถึง 90% ในระยะเวลา 10 ปี ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการพุ่งสูงขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจตุรกีซบเซาลง เกิดจากการอ่อนค่าของสกุลเงินลีราตุรกี และการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุหลัก เกิดขึ้นมาจากกรณี การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาล จนต้องก่อหนี้ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายในปี 2014-2018 ตุรกีขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 5 ล้านล้านบาท โดยในปี 2018 เพิ่มขึ้นมากกว่า 15 ล้านล้านบาท และในปี 2020 หนี้ต่างประเทศของตุรกีสูงถึง 63% ของ GDP โดยสัดส่วนนี้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 2010 และสาเหตุที่ 2 คือการใช้อำนาจเผด็จการของประธานาธิบดีแทรกแซงนโยบายการบริหารการเงินของธนาคารตุรกี
ตั้งแต่ปี 2014 ที่ประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ได้เข้ามาบริหารประเทศ ภาครัฐก็ได้เน้นทำการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ เพื่อนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค รวมไปถึงการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังหลายอย่าง ด้วยเงินจำนวนมหาศาล และในปี 2016 ได้มีความพยายามในการทำรัฐประหารแต่ก็ไม่สำเร็จ จนปี 2018 ได้มีการต่อสู้ระหว่างทหารตุรกีกับกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย ทำให้ต่างประเทศมองเห็นถึงความไม่มั่นคง เงินลงทุนที่เคยไหลเข้ามากลับเริ่มน้อยลง เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น อีกทั้งเงินทุนที่เคยมีเริ่มไหลออกนอกประเทศ จนผลให้ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ
ปี 2014 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 2.3 ลีราตุรกี
ปี 2018 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 5.3 ลีราตุรกี
นอกจากนั้น ค่าเงินลีราตุรกี ก็ได้อ่อนค่าลงเรื่อย ๆ เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและตุรกี ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ มีการเรียกเก็บค่าภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเพิ่มเติม หลังจากนั้นค่าเงินลีราตุรกีเริ่มอ่อนค่า จนในตอนนี้นั้น ค่าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 13.6 ลีราตุรกี ซึ่งเงินอ่อนค่าของตุรกี มาพร้อมกับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 50% ซึ่งถ้าหากค่าเงินอ่อนลง ทำให้คนไม่อยากถือเงินลีราตุรกี จนเกิดกระแสเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ คือ ธนาคารกลางตุรกีต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ประธานาธิบดีกลับตัดสินใจแทรกแซงการบริหารเงินของธนาคารกลางตุรกี เพราะอยากให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยเขาได้กล่าวว่า ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของตุรกี และสร้างความได้เปรียบการแข่งขันในภาคการส่งออกนอกประเทศ ทำให้ปลายปี 2564 ทำให้ธนาคารกลางตุรกีมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ทั้งที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง ทั้งผู้ประกอบการและนักธุรกิจในตุรกีจึงกำลังประสบกับปัญหาต้นทุนสูงขึ้นมาก ราคาสินค้าและบริการก็แพง จนสร้างความลำบากให้ประชาชนในประเทศ
จากที่ผมกล่าวว่านั้น อนาคตของประเทศตุรกีที่อดีตเคยเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ในปัจจุบันเป็นประเทศที่พบเจอกับวิกฤต จะเป็นไปในทิศทางใด คนทั่วโลกต่างจับตามองรวมถึง ประเทศไทยที่ทำการค้ากับตุรกี แต่ในตอนนี้สิ่งที่เราต่างเห็นได้ชัดคือ ตุรกีกลายเป็นผู้ป่วยทางเศรษฐกิจรายใหม่ของยุโรปเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ