List of content
เลบานอนประกาศล้มละลาย! หลังฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 62
ล่าสุด นายซาอัด ชามิ รองนายกรัฐมนตรีเลบานอน ประกาศว่าสาธารณรัฐเลบานอน และธนาคารกลางเลบานอนได้ล้มละลายแล้ว หลังเศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤตมาตั้งแต่ปี 2562 โดยตอนนี้ทางสาธารณรัฐเลบานอนได้เตรียมเจรจากับ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และลดผลกระทบที่อาจส่งผลต่อประชาชนในประเทศ
นายชามิกล่าวว่า หัวข้อที่จะเจรจากับ IMF จะมีทั้งการปรับโครงสร้างระบบธนาคาร แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การอนุมัติงบประมาณ และการออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเงินทุน โดยก่อนหน้านี้ เลบานอนได้เผชิญวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ จึงส่งผลให้ประเทศขาดแคลนสกุลเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางการเงินได้กล่าวหาธนาคารพาณิชย์ของเลบานอนว่าได้นำเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศของลูกค้าไปฝากไว้ที่ธนาคารกลางเพื่อแลกกับการได้รับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ขณะที่ธนาคารกลางเลบานอนก็ได้นำเงินฝากดังกล่าวไปหนุนค่าเงินปอนด์ของเลบานอน และชดเชยการขาดดุลงบประมาณของประเทศ
ทั้งนี้ นายไรอัด ซาลาเมห์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเลบานอน ได้ออกมาแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวที่ว่า ธนาคารกลางเลบานอนได้ล้มละลาย ตามที่นายซาอัด ชามิ รองนายกรัฐมนตรีเลบานอน ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยกล่าวว่า “ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวว่า ธนาคารกลางเลบานอนได้ล้มละลายนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด”
นายซาลาเมห์ยังกล่าวอีกว่า “ธนาคารกลางยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ภายใต้มาตรา 70 ของกฏหมายการเงิน ซึ่งระบุว่าธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาความน่าเชื่อถือของสกุลเงินเลบานอน และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ตาม เลบานอนได้เผชิญกับวิกฤตทางการเงิน และเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ส่งผลให้ประเทศประสบกับภาวะขาดแคลนพลังงาน และเวชภัณฑ์ ทำให้ค่าเงินปอนด์เลบานอนได้ทรุดตัวลงถึง 90% ซึ่งเป็นการบั่นทอนความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงสินค้าพื้นฐาน รวมทั้งอาหาร น้ำ ระบบสาธารณสุข และการศึกษา อีกทั้งประชาชนในประเทศยังประสบเหตุการณ์กระแสไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง เนื่องจากภาวะการขาดแคลนเชื้อเพลิงอีกด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จำกัดการถอนสกุลเงินต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งมีสาเหตุมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจของเลบานอนได้หดตัวลงเกือบ 60% ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิกฤตการเงินครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ นักลงทุนทุกท่านควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างสาธารณรัฐเลบานอนกับ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนของค่าเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต