List of content
ควรซื้อกองทุนทองคำดีไหม? แนะนำ 10 กองทุนทองคำที่มีผลตอบแทนสูงสุดในปี 2023
“ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมสูงมากจากคนทุกเพศทุกวัย เพราะมันบ่งบอกถึงความมีฐานะของผู้ครอบครองจนมีคำกล่าวที่ว่า ‘มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่’ วลีดังกล่าวสื่อถึงความนิยมทองคำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้ง ในแวดวงการลงทุนก็ทราบดีว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤติต่าง ๆ ได้ดี นับเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่น่าลงทุนเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี การลงทุนในทองคำแท่งกลับจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงมาก หากเป็นการเทรดทองที่ใช้เงินน้อยลงก็ยังต้องใช้ความรู้สูงเช่นกัน แล้วมันจะเป็นไปได้หรือไม่ หากเราต้องการลงทุนในทองคำด้วยจำนวนเงินทุนที่ต่ำ ควบคู่กับการใช้ความรู้ที่ไม่สูงนัก คำตอบก็คือมีครับ ซึ่งนั่นก็คือ “กองทุนทองคำ” ทางเลือกใหม่ในการลงทุนทองคำสำหรับผู้เริ่มต้น
กองทุนทองคำคืออะไร, ควรซื้อกองทุนทองคำดีไหม, เลือกกองทุนทองคำอย่างไร แล้วกองทุนรวมทองคำที่ไหนดี? ทุกคำถามเหล่านี้ เราได้รวบรวมคำตอบทั้งหมดไว้ในบทความนี้แล้วครับ
อันดับแรก ผมจะกล่าวถึงความสำคัญของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ถูกใช้ในการลงทุนเพื่อการเก็งกำไรกันก่อนครับ เพื่อขยายความว่า ทำไมทองคำจึงเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุน แม้ว่าจะผ่านมาหลายปี
ทองคำ เป็นโลหะมีค่าชนิดหนึ่งที่ถูกใช้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้คนมาตั้งแต่อดีต ดังจะเห็นว่า ทองคำถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน, เครื่องประดับเพื่อบ่งบอกฐานะ, การตกแต่งสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ หรือแม้แต่ใช้ในทางศาสนาอย่างการสร้างองค์พระพุทธรูป และในปัจจุบัน ทองคำก็ยังคงถูกใช้ในจุดประสงค์ดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ เองก็มีการกักตุนทองคำในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อเสถียรภาพภายในด้วยเช่นกัน
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? นั่นก็เพราะว่า ทองคำถูกมองว่าเป็นสิ่งที่มีมูลค่า ไม่มีสิ่งใดมาแทนได้ แม้จะเกิดวิกฤติต่าง ๆ ขึ้น แต่ทองคำก็ยังสามารถรักษามูลค่าของตัวเองไว้ได้จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ทองคำจึงกลายเป็นเครื่องมือในการรักษามูลค่า (Store of Value) ของผู้คนและประเทศชาติ ทำให้ทองคำกลายเป็นสิ่งที่ถูกใช้เพื่อการลงทุนและการเก็งกำไรครับ
สาเหตุที่ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่สามารถรักษาหรือเพิ่มมูลค่าได้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มีดังนี้ครับ
- ทองคำมีมูลค่าในตัวเองและทรงคุณค่าอยู่ตลอด
- ทองคำมีปริมาณความต้องการ (Demand) สูง ทำให้มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง
- ราคาทองคำผันผวนต่ำหากเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ
- ทองคำเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤติต่าง ๆ ได้ดี
- ทองคำได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
- ทองคำถูกใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ
ส่วนสาเหตุที่นักลงทุนควรลงทุนในทองคำ แม้จะผ่านมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว มีดังนี้ครับ
-
ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีความสัมพันธ์ หรือมีความสัมพันธ์เชิงลบกับเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ราคาทองคำจะไม่แปรผันตามสภาพเศรษฐกิจมากนัก อีกทั้ง ยังสามารถรักษามูลค่าไว้ได้เมื่อเกิดวิกฤติต่าง ๆ ดังนั้น มันจึงสามารถใช้เพื่อรักษามูลค่าและจำกัดความเสี่ยงจากการขาดทุนได้ เปรียบเสมือนเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงชนิดหนึ่งครับ
-
ทองคำมีผลตอบแทนระยะยาวชนะเงินเฟ้อ
โดยปกติแล้ว เศรษฐกิจจะเกิดขึ้นวนเวียนตามวัฏจักรเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่า มันจะมีทั้งช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำและเฟื่องฟู ทำให้สินทรัพย์เพื่อการลงทุนต่าง ๆ มีทั้งขึ้นและลงอยู่เสมอ ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนได้ แต่ผลตอบแทนของทองคำในระยะยาวกลับสามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้ แม้จะมีวิกฤติใด ๆ เกิดขึ้นก็ตาม
-
ทองคำมีสภาพคล่องสูง
ดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก มันถูกใช้ในหลายจุดประสงค์ ทั้งการลงทุน, การบ่งบอกฐานะ หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรม ดังนั้น ทองคำจึงมีความต้องการซื้อขายที่สูงมาก ทำให้สภาพคล่องในการซื้อขายและการลงทุนสูงตามไปด้วยครับ
ดูเหมือนว่าการลงทุนในทองคำจะมีข้อดีมากมาย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เราจะลงทุนในทองคำดีไหม? คำตอบก็คือ ต้องดูลักษณะนิสัยในการลงทุนและความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถยอมรับได้ก่อนครับ เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนอื่นนอกเหนือจากส่วนต่างของราคา (Capital Gain) ดังนั้น หากคุณคาดหวังเงินปันผลหรือดอกเบี้ย การลงทุนในทองคำก็อาจจะไม่ค่อยตอบโจทย์ครับ แต่หากคุณมีเวลาในการลงทุนมาก เมื่อพิจารณาถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ แล้ว การมีทองคำอยู่ในพอร์ตการลงทุนก็ช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีเช่นกันครับ
แม้ว่าการลงทุนในทองคำจะเต็มไปด้วยข้อดีต่าง ๆ ในระยะยาว แต่ในแง่ของการลงทุนและการเก็งกำไร ทองคำก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ซึ่งหลัก ๆ จะเป็นความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk) ซึ่งเกิดจากความผันผวนในตลาด แต่อย่างไรก็ดี ทองคำค่อนข้างมีความเป็นเอกเทศในตัวเอง การลงทุนทองคำในระยะยาวจึงยังสามารถทำได้ดีครับ
นอกจากนี้ ทองคำยังมีความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเป็นสกุลเงินหลักที่ถูกใช้ซื้อขายทองคำ ทำให้การขึ้นลงของค่าเงินดอลลาร์มีผลต่อราคาทองคำค่อนข้างมากครับ
อีกสิ่งที่ควรพึงระวังไว้แม้จะยังไม่เกิดขึ้น คือ ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนว่ามีมูลค่าตามหลักอุปสงค์และอุปทาน แต่หากวันหนึ่งทองคำเกิดเสื่อมมูลค่าด้วยปัจจัยใด ๆ ก็ตาม มันก็ไม่ต่างจากหินก้อนหนึ่ง ดังนั้น การศึกษาหาความรู้และติดตามข่าวสารต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญครับ
ปัจจุบัน เราสามารถลงทุนในทองคำได้หลากหลายวิธี ดังนี้ครับ
- การซื้อขายทองคำแท่ง
- สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures)
- การเทรดทองคำในตลาดโลก (Gold Spot)
- หุ้นทองคำ
- กองทุนรวมทองคํา
หลาย ๆ ท่านในเพจของเราค่อนข้างให้ความสนใจในการลงทุนทองคำ แต่ไม่ใช่ทุกท่านที่มีความรู้หรือความพร้อมในการเทรดทอง (Gold Spot) เนื่องด้วยปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งทีมงาน Thaiforexreview ก็ได้เล็งเห็นถึงข้อจำกัดดังกล่าว ดังนั้น เราจึงได้เรียบเรียงบทความ “กองทุนทองคำ” ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเลือกในการลงทุนทองคำให้ทุกท่านได้ศึกษากันครับ เจ้ากองทุนทองคำนี้มีประโยชน์อย่างไร น่าสนใจหรือไม่ ไปติดตามกันครับ
กองทุนทองคำ (Gold Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในทองคำ กล่าวคือ ทองคำเป็นตัวละครหลักของกองทุน ซึ่งส่วนมากจะมีอัตราส่วนที่มากกว่า 90% ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และนโยบายในการลงทุนของกองทุนนั้น ๆ ครับ แต่ทั้งหมดล้วนต้องการสร้างผลตอบแทนให้เทียบเคียงกับการลงทุนทองคำในตลาดโลกนั่นเองครับ
กองทุนทองคำในประเทศไทยส่วนมาก มักจะมีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเรียกกองทุนประเภทนี้ว่า Feeder Fund หรือ Fund of Funds แล้วแต่วัตถุประสงค์และนโยบายของกองทุนนั้น ๆ ส่วนกองทุนหลักที่ Feeder Fund หรือ Fund of Funds เข้าไปลงทุนเรียกว่า Master Fund ครับ
Master Fund ของกองทุนทองคำที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ส่วนใหญ่ลงทุน คือ “กองทุน SPDR Gold Shares” ซึ่งเป็นกองทุนที่มีการถือครองทองคำมากที่สุดของโลกครับ
กองทุน SPDR Gold Shares หรือที่ส่วนมากเรียกย่อ ๆ ว่า กองทุน SPDR เป็นกองทุนที่มีการถือครองทองคำมากที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณเกือบ 1,000 ตัน มากกว่าทองคำสำรองในประเทศไทยประมาณ 4-5 เท่า โดยทุกคนจะสังเกตเห็นว่า ปริมาณการถือครองทองคำของกองทุน SPDR Gold Shares นั้นมากกว่าประเทศประเทศหนึ่งเสียอีก ด้วยเหตุนี้เองทำให้ความเคลื่อนไหวของกองทุน SPDR Gold Shares จึงส่งผลต่อราคาทองคำในตลาดโลกเป็นอย่างมากครับ
กองทุน SPDR Gold Shares (Standard & Poor's Depositary Receipts) เป็นกองทุนรวมประเภท ETF ที่มีการถือหุ้นโดย World Gold Council (WGC) องค์กรร่วมระหว่างบริษัทผู้ผลิตทองคำของโลก และมีผู้จัดการกองทุน คือ World Gold Trust Services, LLC ซึ่งความพิเศษของกองทุน SPDR Gold Shares คือ การเป็นกองทุนเดียวที่มี Physical Gold Back Up มากกว่า 99% ดังนั้น ทิศทางของตลาดทองคำจึงสะท้อนผ่านกองทุนดังกล่าวครับ
กองทุนทองคำแตกต่างจากการลงทุนในทองคำประเภทอื่น ๆ อย่างไร ทำไมมันจึงน่าสนใจ? ต่อไปนี้ คือ ความพิเศษของกองทุนทองคำครับ
- กองทุนทองคำให้ผลตอบแทนอ้างอิงตามราคาทองคำในตลาดโลก
- ใช้ต้นทุนน้อยในการลงทุน บางกองทุนอาจต่ำสุดถึง 1 บาท
- ช่วยกระจายความเสี่ยงภายในพอร์ตการลงทุน
- มีผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารจัดสรรการลงทุน ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาวางแผนการลงทุนเอง
- บางกองทุนมีนโยบายในการจ่ายเงินปันผล แตกต่างจากการลงทุนในทองคำโดยตรง
- กองทุนทองคำประเภท SSF หรือ RMF จะมีสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ซึ่งการลงทุนในทองคำโดยตรงไม่สามารถมอบให้ได้
โดยภาพรวมแล้ว กองทุนทองคำมีข้อดีและข้อจำกัดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ครับ
จุดเด่น |
|
จุดด้อย |
|
เมื่อหลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะเริ่มสนใจกองทุนทองคำ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ต่อไปนี้ คือ ขั้นตอนการเลือกกองทุนรวมที่ทุกท่านสามารถทำตามได้ครับ
กองทุนแต่ละกองมักจะมีวัตถุประสงค์และนโยบายที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงต้องตรวจสอบนโยบายของกองทุนในแต่ละด้าน อันได้แก่
1) กลยุทธ์ในการลงทุน
กองทุนรวมจะมีกลยุทธ์ในการลงทุน 2 ประเภท คือ
-
Passive Fund ที่มีการบริหารแบบเชิงรับ ต้องการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง
-
Active Fund ที่มีการบริหารแบบเชิงรุก ต้องการสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าดัชนีอ้างอิง
2) นโยบายค่าเงิน
กองทุนรวมจะมีนโยบายค่าเงิน 2 รูปแบบ คือ
-
กองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedge) ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนค่าเงินของกองทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ กองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินจะมีสัญลักษณ์ H หรือไม่มีก็ได้เช่นกัน ซึ่งเราสามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ใน Fund Fact Sheet ของ บลจ. ครับ
-
กองทุนที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Unhedge) จะสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงเงินบาทอ่อนค่า แต่หากเงินบาทแข็งค่าจะได้รับผลกระทบมากกว่ากองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินครับ โดยกองทุนที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินจะมีสัญลักษณ์ UH ในชื่อของกองทุน ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน Fund Fact Sheet เช่นเดียวกันครับ
3) ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน
กองทุนรวมจะมีค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนเป็นปกติอยู่แล้ว เนื่องจากเราต้องใช้ผู้จัดการกองทุนในการบริหารจัดการต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี หากค่าธรรมเนียมแพงมากจนเกินไป มันก็จะส่งผลต่อผลตอบแทนที่คุณจะได้รับ ดังนั้น เราจึงควรดูค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดที่ใช้ในกองทุน (Total Expense Ratio) ด้วยครับ ซึ่งการจะตัดสินว่ามันถูกหรือแพงนั้น คุณอาจจะใช้วิธีการเปรียบเทียบกับกองทุนอื่น ๆ ในหมวดหมู่เดียวกันครับ
4) ขั้นต่ำในการซื้อขายหน่วยลงทุน
โดยปกติ กองทุนรวมจะมีการกำหนดเงินขั้นต่ำในการซื้อขายหน่วยลงทุน ซึ่งส่วนมากจะเริ่มที่ 0, 500, 1000, 5000 บาท หรือมากกว่านี้ แล้วแต่นโยบายของกองทุนนั้น ๆ ด้วยการกำหนดขั้นต่ำในการซื้อขายนี้จะทำให้เราสามารถเลือกกองทุนในระดับที่เหมาะสมกับระดับเงินทุนของตัวเองได้ครับ
กองทุนแต่ละกองจะมีประเภทสินทรัพย์ที่ใช้ลงทุนแตกต่างกัน แล้วแต่วัตถุประสงค์และนโยบายของกองทุน ดังนั้น เราจึงต้องตรวจสอบวัตถุประสงค์และนโยบายของกองทุนก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้น จึงค่อยมาดูประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน ซึ่งหากเป็นกองทุนทองคำก็ควรมีทองคำเป็นส่วนหลักของพอร์ตครับ
อย่างไรก็ดี กองทุนทองคำที่เป็น Master Fund หรือก็คือ กองทุนหลักที่ บลจ. เข้าไปลงทุนนั้น อาจจะมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของการบริหารกองทุนและสัดส่วนที่ลงทุน ดังนั้น เราจึงควรดูว่า Master Fund ของกองทุนทองคำนั้น ๆ คือกองทุนใด และลงทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ครับ
นอกจากวัตถุประสงค์, นโยบายการลงทุน และสินทรัพย์การลงทุนแล้ว เรายังควรตรวจสอบผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนด้วยครับ แม้ว่าผลงานในอดีตจะไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคตได้ แต่เราก็ควรศึกษาการบริหารจัดการกองทุนในอดีตว่าเป็นอย่างไร แตกต่างจากกองทุนอื่นในหมวดหมู่เดียวกันหรือไม่ด้วยครับ เพราะบางกองทุนที่มีวัตุประสงค์และนโยบายการลงทุนคล้ายกัน อาจสร้างผลตอบแทนได้ไม่เท่ากันครับ ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้จัดการกองทุนกองนั้น ๆ ครับ
ในลำดับสุดท้าย คือ การเลือกกองทุนตามผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับ อันได้แก่
1) นโยบายการจ่ายเงินปันผล
เนื่องจากนักลงทุนแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดแตกต่างกัน ความต้องการผลตอบแทนจึงอาจแตกต่างกันตามไปด้วยครับ ซึ่งกองทุนก็มักจะมีตัวเลือกให้เลือก ดังนี้ครับ
-
กองทุนแบบไม่จ่ายเงินปันผล หรือกองทุนชนิดสะสมมูลค่า เป็นกองทุนที่ไม่มีการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ลงทุน เพราะกองทุนจะนำเงินส่วนดังกล่าวไปลงทุนต่อ (Reinvest) เพื่อเพิ่มมูลค่าของหน่วยลงทุนที่เราถืออยู่ กล่าวได้ว่า เราจะได้รับผลตอบแทนเพียงส่วนต่างของราคา (Capital Gain/ Loss) เมื่อทำการขายเท่านั้นครับ
-
กองทุนแบบจ่ายเงินปันผล เป็นกองทุนที่มีการจ่ายเงินสดออกมาให้เราระหว่างที่ลงทุน อาจจะเป็นไตรมาส, ครึ่งปี หรือ 1 ปี ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุน ส่วนจำนวนเงินที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนครับ สิ่งที่ควรทราบ คือ เงินปันผลที่ได้รับนั้นจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย ดังนั้น กองทุนประเภทนี้จึงมีผลตอบแทนแบบ 2 ทาง คือ ส่วนต่างของราคา (Capital Gain/ Loss) เมื่อทำการขาย และเงินปันผลระหว่างลงทุนครับ
2) สิทธิประโยชน์ทางภาษี
นอกจากผลตอบแทนแล้ว สิ่งที่อาจนำมาคำนวณด้วย คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะกองทุนรวมประเภท SSF และ RMF นั้น สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้ของบุคคลทั่วไปได้ครับ กระนั้น หากทุกท่านต้องการซื้อกองทุนประเภทดังกล่าวอาจจะต้องมีการศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขให้ชัดเจน เพราะกองทุนประเภทนี้มีระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนที่ยาวนานมากกว่า 10 ปี เราจึงจำเป็นต้องเลือกกองทุนดี ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุนครับ แต่หากคุณไม่ได้ต้องการสิทธิประโยชน์ในด้านดังกล่าว อาจมองข้ามได้ครับ
ทั้งหมดนี้ คือ 4 ขั้นตอนการเลือกกองทุนทองคำที่ผมนำมาฝากทุกท่าน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกกองทุนที่เหมาะกับตัวเองครับ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะสินทรัพย์ใด ๆ ล้วนต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในการลงทุน ดังนั้น ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์นั้น ๆ ให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนครับ
หลังจากที่เราได้ทำความรู้จัก “กองทุนทองคำ” กันแล้วว่า มันคืออะไร, น่าสนใจอย่างไร และมีจุดเด่น/ จุดด้อยอะไรบ้าง ต่อไปนี้ ผมจะมาแนะนำ 10 กองทุนทองคำที่มีผลตอบแทนสูงสุดในปี 2023 กันครับ
ที่มา Wealthmagik ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2023
ชื่อกองทุน |
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ (ชนิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) |
บลจ. |
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด |
กลยุทธ์ในการลงทุน |
Passive Fund |
นโยบายการจ่ายเงินปันผล |
ไม่จ่ายเงินปันผล |
ขั้นต่ำในการซื้อขาย |
1 บาท |
รูปภาพจาก Wealthmagik
ชื่อกองทุน |
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ (ชนิดสะสมมูลค่า) |
บลจ. |
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด |
กลยุทธ์ในการลงทุน |
Passive Fund |
นโยบายการจ่ายเงินปันผล |
ไม่จ่ายเงินปันผล |
ขั้นต่ำในการซื้อขาย |
1 บาท |
รูปภาพจาก Wealthmagik
ชื่อกองทุน |
กองทุนเปิดธนชาตทองคำแท่ง-UH |
บลจ. |
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด |
กลยุทธ์ในการลงทุน |
Passive Fund |
นโยบายการจ่ายเงินปันผล |
ไม่จ่ายเงินปันผล |
ขั้นต่ำในการซื้อขาย |
1 บาท |
รูปภาพจาก Wealthmagik
ชื่อกองทุน |
กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์ฟันด์ |
บลจ. |
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด |
กลยุทธ์ในการลงทุน |
Passive Fund |
นโยบายการจ่ายเงินปันผล |
ไม่จ่ายเงินปันผล |
ขั้นต่ำในการซื้อขาย |
500 บาท |
รูปภาพจาก Wealthmagik
ชื่อกองทุน |
กองทุนเปิดกรุงศรีโกลด์ |
บลจ. |
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด |
กลยุทธ์ในการลงทุน |
Passive Fund |
นโยบายการจ่ายเงินปันผล |
ไม่จ่ายเงินปันผล |
ขั้นต่ำในการซื้อขาย |
500 บาท |
รูปภาพจาก Wealthmagik
ชื่อกองทุน |
กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท โกลด์ ชนิดไม่จ่ายเงินปันผล |
บลจ. |
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด |
กลยุทธ์ในการลงทุน |
Passive Fund |
นโยบายการจ่ายเงินปันผล |
ไม่จ่ายเงินปันผล |
ขั้นต่ำในการซื้อขาย |
0 บาท |
รูปภาพจาก Wealthmagik
ชื่อกองทุน |
กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท โกลด์ ชนิดจ่ายเงินปันผล |
บลจ. |
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด |
กลยุทธ์ในการลงทุน |
Passive Fund |
นโยบายการจ่ายเงินปันผล |
จ่ายเงินปันผล |
ขั้นต่ำในการซื้อขาย |
0 บาท |
รูปภาพจาก Wealthmagik
ชื่อกองทุน |
กองทุนเปิดทหารไทย โกลด์ ฟันด์ |
บลจ. |
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด |
กลยุทธ์ในการลงทุน |
Passive Fund |
นโยบายการจ่ายเงินปันผล |
ไม่จ่ายเงินปันผล |
ขั้นต่ำในการซื้อขาย |
1 บาท |
รูปภาพจาก Wealthmagik
ชื่อกองทุน |
กองทุนเปิดบีแคป โกลด์ |
บลจ. |
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บางกอกแคปปิตอล จำกัด |
กลยุทธ์ในการลงทุน |
Passive Fund |
นโยบายการจ่ายเงินปันผล |
ไม่จ่ายเงินปันผล |
ขั้นต่ำในการซื้อขาย |
500 บาท |
รูปภาพจาก Wealthmagik
ชื่อกองทุน |
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์ (ชนิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) |
บลจ. |
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด |
กลยุทธ์ในการลงทุน |
Passive Fund |
นโยบายการจ่ายเงินปันผล |
ไม่จ่ายเงินปันผล |
ขั้นต่ำในการซื้อขาย |
1 บาท |
รูปภาพจาก Wealthmagik
โดยสรุป ทองคำสามารถลงทุนได้หลากหลายช่องทาง ซึ่งแต่ละช่องทางก็มีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เหมาะกับผู้ลงทุนที่แตกต่างกันครับ ซึ่งกองทุนทองคำถือเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนสำหรับมือใหม่ที่น่าสนใจ เพราะใช้เงินทุนน้อย, มีผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการให้ และมีโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าส่วนต่างของราคาซื้อขาย แม้ว่าสภาพคล่องในการซื้อขายกองทุนทองคำจะไม่มากเท่าการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ แต่ก็ยังถือว่าไม่น่าเกลียดครับ หากพิจารณาประกอบกับข้อดีในจุดอื่น ๆ
ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งหรือต้องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วยทองคำ แต่ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงนัก กองทุนทองคำก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกันครับ ทั้งนี้ อย่าลืมศึกษารายละเอียด, เงื่อนไข ตลอดจนนโยบายในการลงทุนให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุนกันด้วยนะครับ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังมองหาช่องทางการลงทุนทองคำในรูปแบบอื่น ๆ ครับ
หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม
สามารถติดตามความรู้เกี่ยวกับ Forex ได้ทางเว็บไซต์ www.thaiforexreview.com
ติดตามความเคลื่อนไหวและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Thaiforexreview
ติดตามข่าวสารการลงทุนและบทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์ได้ที่ Forex Analysis
อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ Blogs
อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมได้ที่ Top Brokers