List of content
ดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) คืออะไร ? สำคัญอย่างไรกับนักลงทุน
ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้แลกเปลี่ยนมากที่สุด ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกการขยับขึ้นลงของค่าเงินดอลลาร์จะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก เพราะฉะนั้น หากต้องการวัดค่าเงินดอลลาร์จึงต้องมีหน่วยวัดที่ได้มาตรฐานและแม่นยำ ซึ่ง “ดัชนีดอลลาร์” ถือเป็นเครื่องมือที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อการนี้ แต่มันคืออะไร, สำคัญอย่างไร, อ่านค่าอย่างไร แล้วนักลงทุนจำเป็นต้องรู้หรือไม่ ไปติดตามกันครับ
ดัชนีดอลลาร์ (U.S. Dollar Index หรือ Dollar Index: DX) คือ เครื่องมือที่ใช้แสดงมูลค่าโดยรวมของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ของโลก ซึ่งจัดทำโดย ICE Data Indices บริษัทในเครือของ Intercontinental Exchange (ICE) ได้รับการพัฒนาโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปี 1973 หลังจากระบบ Bretton Woods ล่มสลาย เพื่อใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์ และถ่วงน้ำหนักค่าเงินดอลลาร์กับสกุลเงินหลักอีก 6 สกุลครับ
สกุลเงินหลัก 6 สกุล ในตะกร้าเงินที่เป็นตัวเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่
-
ยูโร (EUR) ในสัดส่วน 57.6%
-
เยนญี่ปุ่น (JPY) ในสัดส่วน 13.6%
-
ปอนด์อังกฤษ (GBP) ในสัดส่วน 11.9%
-
ดอลลาร์แคนาดา (CAD) ในสัดส่วน 9.1%
-
โครนาสวีเดน (SEK) ในสัดส่วน 4.2%
-
ฟรังก์สวิส (CHF) ในสัดส่วน 3.6%
โดยสกุลเงินที่นำมาเปรียบเทียบนั้น ล้วนเป็นประเทศคู่ค้าหลักที่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลชุดดังกล่าวเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 1999 แตกต่างจากปัจจุบันที่ Top 6 ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ มีเม็กซิโก, จีน และเยอรมนี เข้ามาด้วย แต่สกุลเงินเปโซเม็กซิโก (MXN), หยวนจีน (CNY) และมาร์คเยอรมัน (DEM) กลับไม่ได้อยู่ในตะกร้าดังกล่าวครับ
ดังนั้น ดัชนีดอลลาร์ในปัจจุบันจึงไม่สามารถสะท้อนการค้าของสหรัฐฯ ได้อย่างแม่นยำนัก ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า ในอนาคตจะมีการปรับตะกร้าเงินหรือไม่และเมื่อไหร่ครับ
รายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ มีการนำเข้ามากที่สุด
รายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ มีการส่งออกมากที่สุด
ดัชนีดอลลาร์ (US Dollar Index : DXY) เป็นดัชนีที่ใช้แสดงมูลค่าโดยรวมของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเปรียบเทียบกับ 6 สกุลที่เป็น “คู่ค้าหลัก” กับอเมริกา ประกอบไปด้วยสกุลเงินยูโร, สกุลเงินเยน, สกุลเงินปอนด์, สกุลเงินดอลลาร์แคนาดา, สกุลเงินโครนาสวีเดนและสกุลเงินฟรังก์สวิส ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Intercontinental Exchange (ICE)
แต่ดัชนีดอลลาร์ถ่วงน้ำหนัก (Trade Weighted Dollar Index) เป็นดัชนีดอลลาร์ที่จัดทำขึ้นโดย FED ซึ่งจัดทำเพื่อวัดมูลค่าของเงินดอลลาร์ให้มีความแม่นยำและเป็นปัจจุบันมากที่สุด ซึ่งจุดแตกต่างระหว่าง 2 ดัชนีนี้จะอยู่ที่ “จำนวนสกุลเงิน” ที่นำมาคำนวณในดัชนี โดยดัชนีดอลลาร์จะใช้ 6 สกุลเงินและดัชนีดอลลาร์ถ่วงน้ำหนักจะใช้ 26 สกุลเงินครับ
หลาย ๆ ครั้ง เราจะเห็นตัวย่อของดัชนีดอลลาร์ที่หลากหลาย ทั้ง USDX, DXY และ DX แต่มันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
-
USDX คือ คำที่ใช้เรียกดัชนีดอลลาร์ดั้งเดิม
-
DXY คือ สัญลักษณ์สำหรับผู้ใช้ Bloomberg Terminal และสำนักข่าวบางแห่ง
-
DX คือ สัญลักษณ์ที่ ICE Exchange ใช้เรียกค่าดัชนีดอลลาร์
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น USDX, DXY หรือ DX ก็สามารถใช้เรียกดัชนีดอลลาร์ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบและความสะดวกได้เลยครับ
ดัชนีดอลลาร์มีการกำหนดค่าไว้ที่ 100 จุด ซึ่งมีการอ่านค่าและความหมายดังต่อไปนี้ครับ
-
หากดัชนีสูงกว่า 100 จุด แสดงว่า ขณะนั้นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในตะกร้าเงิน
-
หากดัชนีต่ำกว่า 100 จุด แสดงว่า ขณะนั้นเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในตะกร้าเงิน
การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของดัชนีดอลลาร์แต่ละจุดนั้น บ่งชี้ถึงระดับการแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ กล่าวคือ หากดัชนีดอลลาร์อยู่ที่ 110 จุด หมายความว่า เงินดอลลาร์แข็งค่า 10% และหากดัชนีดอลลาร์อยู่ที่ 85 จุด หมายความว่า เงินดอลลาร์อ่อนค่า 15% เป็นต้นครับ
สูตรการคำนวณดัชนีดอลลาร์
การคำนวณดัชนีดอลลาร์สามารถทำได้โดยแทนค่าจากสูตรดัชนีถ่วงน้ำหนักนี้ครับ
- ค่า 50.14348112 คือ ค่าเริ่มต้นที่ทำให้ดัชนีเริ่มที่ 100 จุด
- กรณี USD เป็น Quote currency เลขยกกำลังที่นำมาใช้คำนวณจะติดลบ
เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้กันอย่างแพร่หลายของโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปของค่าเงินดอลลาร์นี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินอย่างแน่นอน ดังนั้นดัชนีดอลลาร์จึงเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์มูลค่าโดยรวมของสกุลเงินดอลลาร์ วางแผนการลงทุน ประเมินความเสี่ยงและเป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มในตลาดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีครับ
ใช้เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
ดัชนีดอลลาร์ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์เป็นค่าเงินที่มีอิทธิพลต่อตลาดเงินและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์จะช่วยให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ทิศทางค่าเงินและทิศทางตลาดในอนาคตต่อไปได้ เพราะดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ถูกใช้แลกเปลี่ยนมากที่สุดในโลกและใช้ในการค้าและการลงทุน ดังนั้นหากเงินดอลลาร์มีการเปลี่ยนแปลงไป การทำธุรกรรมที่ใช้เงินดอลลาร์ก็จะได้รับผลกระทบและอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ๆ ต่อไปได้ครับ
สัญญาณการซื้อขายใน Forex
ดัชนีดอลลาร์ยังสามารถใช้เป็นสัญญาณในการซื้อขาย Forex ได้ เทรดเดอร์หลายคนใช้ดัชนีดอลลาร์เพื่อหาแนวรับ – แนวต้าน และวางแผนการเทรดของตัวเอง ซึ่งดัชนีดอลลาร์สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทั้งคู่เงินที่มีความสัมพันธ์แบบแปรผันตรง และคู่เงินที่มีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันครับ
เครื่องมือบริหารความเสี่ยง
ดัชนีดอลลาร์ถือเป็นเครื่องมือสำหรับนักลงทุนที่ใช้ในการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงจากการลงทุน เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์ถือเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในตลาดสินทรัพย์ต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจึงมีผลต่อการลงทุนของนักลงทุนโดยตรงครับ
ดัชนีดอลลาร์มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนี้
-
ความสัมพันธ์แบบแปรผันตรง คือ สินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกับดัชนีดอลลาร์ เช่น หุ้นโลก, หุ้นสหรัฐฯ และคู่เงินบางคู่ (กรณี USD เป็น Base เช่น USDJPY, USDCAD และ USDGBP เป็นต้น)
-
ความสัมพันธ์แบบแปรผกผัน คือ สินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับดัชนีดอลลาร์ เช่น หุ้นตลาดเกิดใหม่, ทองคำ, น้ำมัน, สินค้าโภคภัณฑ์ และคู่เงินบางคู่ (กรณี USD เป็น Quote เช่น EURUSD, AUDUSD และ NZDUSD เป็นต้น)
ความสัมพันธ์ของดัชนีดอลลาร์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ในตัวอย่างข้างต้นจะทำให้เราทราบทิศทางและการคาดการณ์เบื้องต้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนแน่นอน แต่ไม่ควรลืมที่จะศึกษาดัชนีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนและบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการลงทุนครับ
ดัชนีดอลลาร์มีความเปลี่ยนแปลงทั้งขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว โดยเคยขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาล (All Time High) ที่ 165 จุด ในปี 1984 และต่ำสุด (All Time Low) ที่ 70 จุด ในปี 2007 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังต่อไปนี้ครับ
-
อุปสงค์และอุปทาน
ปัจจุบัน ดอลลาร์สหรัฐถือเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้แลกเปลี่ยนมากที่สุดในโลก แม้แต่การค้าระหว่างประเทศก็ใช้เงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการซื้อ (อุปสงค์) และความต้องการขาย (อุปทาน) ของเงินดอลลาร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งความต้องการนี้เองที่ส่งผลต่อค่าเงินครับ เพราะฉะนั้น หากความต้องการลดลง ค่าเงินก็จะลดลงตามไปด้วยครับ
-
เศรษฐกิจและนโยบายการเงินของสหรัฐฯ
เนื่องจากสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งมากประเทศหนึ่งของโลก การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดำเนินไปในทิศทางใดก็จะส่งผลต่อประเทศอื่น ๆ ครับ ดังนั้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จึงเป็นที่จับตามองจากนักลงทุน, ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้คนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษครับ
นอกจากนี้ ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังส่งผลต่อนโยบายการเงินและการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและค่าเงินสหรัฐฯ ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะกระทบต่อค่าเงิน, อัตราดอกเบี้ย และการทำธุรกรรมทั่วโลกด้วย ดังนั้น ดัชนีดอลลาร์ที่เป็นตัวชี้วัดค่าเงินสหรัฐฯ จึงได้รับผลกระทบโดยตรงนั่นเองครับ
-
ค่าเงินที่ใช้ถ่วงดุลดอลลาร์สหรัฐ
อย่างที่ทราบกันว่า ดัชนีดอลลาร์มีค่าเงิน 6 สกุลในตะกร้าที่ใช้ถ่วงดุลน้ำหนัก ซึ่งประกอบไปด้วย ยูโร (EUR), เยนญี่ปุ่น (JPY), ปอนด์อังกฤษ (GBP), ดอลลาร์แคนาดา (CAD), โครนาสวีเดน (SEK) และฟรังก์สวิส (CHF) ซึ่งหากค่าเงินเหล่านี้มีการปรับตัว ไม่ว่าจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า ล้วนส่งผลต่อทิศทางดอลลาร์ได้ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินหลัก ๆ ก็คือ เศรษฐกิจและนโยบายการเงินภายในประเทศนั้น ๆ ครับ
-
ความเสี่ยงในตลาดโลก
นอกจากปัจจัยในข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม คือ สถานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ของค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักของโลก ดังนั้น มันจึงกลายเป็นหลุมหลบภัยชั้นดีสำหรับนักลงทุนในขณะที่ตลาดโลกเผชิญความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ, ความขัดแย้ง หรือสงคราม ซึ่งส่งผลต่อความต้องการซื้อขายค่าเงินดอลลาร์ครับ
หากคุณต้องการลงทุนในความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ คุณสามารถลงทุนได้ผ่านดัชนีดอลลาร์ ซึ่งมี 3 วิธีการ ดังนี้ครับ
การลงทุนลักษณะนี้เป็นการซื้อขายเงินดอลลาร์โดยตรง ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนได้ผ่านธนาคาร, ร้านแลกเงิน หรือดีลเลอร์ นับเป็นการแลกเปลี่ยนเงินตราจริง ๆ ครับ
ข้อดี
-
ได้ถือและเป็นเจ้าของเงินดอลลาร์โดยตรง
-
นำไปจับจ่ายใช้สอยได้
-
ได้เงินทันทีเมื่อทำการแลกเปลี่ยน
ข้อเสีย
-
ลงทุนยาก ต้องหาร้านแลกเงิน
-
ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างเยอะ
-
ทำกำไรได้น้อย
-
ทำกำไรได้เพียงช่วงเงินบาทอ่อนค่า
-
เรทอัตราแลกเปลี่ยนสูงมาก
การลงทุนลักษณะนี้เป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตลาดเงินต่างประเทศ ซึ่งสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บนแอปพลิเคชันครับ
ข้อดี
-
ใช้เงินทุนน้อย
-
ซื้อขายง่ายผ่านช่องทางออนไลน์
-
มีโอกาสได้รับผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย
ข้อเสีย
-
ทำกำไรได้น้อย
-
ไม่เหมาะกับการลงทุนในระยะสั้น เพราะอาจติดลบได้
-
ซื้อขายได้เฉพาะวันทำการในช่วงเวลาที่กำหนด
-
ได้รับเงิน/ หน่วยลงทุนภายใน 3-5 วันทำการ แล้วแต่นโยบายกองทุน
การลงทุนลักษณะนี้เป็นการลงทุนผ่านตราสารอนุพันธ์ประเภท CFD ที่อนุญาตให้ทำกำไรจากส่วนต่างของราคาโดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านั้นจริง ๆ ครับ หรือก็คือ การเทรดผ่านโบรกเกอร์อย่างที่เราเทรดกันอยู่ทุกวันนี้ครับ
ข้อดี
-
ใช้เงินทุนน้อย
-
ซื้อขายง่ายผ่านช่องทางออนไลน์
-
สามารถใช้ Leverage เพื่อเพิ่มกำลังซื้อขายได้
-
ทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง
-
สเปรดต่ำ
ข้อเสีย
-
นักลงทุนไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นจริง ๆ
-
ความเสี่ยงสูง
-
ไม่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว บางโบรกเกอร์มีค่าธรรมเนียมในการถือออเดอร์ข้ามคืน (Swap)
-
ขั้นต่ำและระยะเวลาในการฝากและถอนเงินขึ้นอยู่กับแต่ละโบรกเกอร์ ส่วนมากจะอยู่ที่ 1 วันทำการ
Dollar Index ดูยังไง ?
> ดูจากการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขดัชนีโดยเทียบกับวันก่อนหน้า ยกตัวอย่างเช่น วันที่ 24 มกราคม 2567 ดัชนีดอลลาร์อยู่ที่ 99.72 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าอยู่ที่ 96.25 หมายความว่าค่าเงินดอลลาร์มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากเมื่อวานแต่ยังคงอ่อนค่าอยู่เมื่อเทียบกับดัชนีตั้งต้นที่ 100 จุด
DXY เทียบกับสกุลเงินอะไร
> DXY หรือ Dollar Index คือดัชนีดอลลาร์ที่เทียบกับสกุลเงิน 6 สกุลคือสกุลเงินยูโร, สกุลเงินเยน, สกุลเงินปอนด์, สกุลเงินดอลลาร์แคนาดา, สกุลเงินโครนาสวีเดนและสกุลเงินฟรังก์สวิสครับ
บทความที่เกี่ยวข้องกับดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index)
PPI คืออะไร ? ส่งผลกับตลาด Forex ในแง่มุมใดบ้าง
PMI คืออะไร ? สิ่งที่เทรดเดอร์สายปัจจัยพื้นฐานต้องรู้ !
CPI คืออะไร ? เกี่ยวข้องอย่างไรกับตลาด Forex
Unemployment Claim คืออะไร มีส่วนสำคัญอย่างไรกับตลาด Forex ?
เทียบให้ชัด! ข่าว Forex สำคัญอย่างไร? Indicator ใช้อันไหนดีที่สุด?
สรุปเกี่ยวกับดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index)
โดยสรุป ดัชนีดอลลาร์ถือเป็นเครื่องมือที่พัฒนาเพื่อวัดมูลค่าของเงินดอลลาร์ โดยการอ้างอิงกับสกุลเงินสำคัญอื่น ๆ อีก 6 สกุล ซึ่งค่าที่วัดได้นั้นจะถูกนำไปใช้คาดการณ์ทิศทางค่าเงิน, ทิศทางตลาด ตลอดจนใช้เป็นสัญญาณในการซื้อขายครับ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามและใส่ใจดัชนีดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ทุกท่านอาจจะนำดัชนีดอลลาร์ไปประยุกต์ใช้กับเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และอย่าลืมป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนกันด้วยนะครับ
หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม
สามารถติดตามความรู้เกี่ยวกับ Forex ได้ทางเว็บไซต์ www.thaiforexreview.com
ติดตามความเคลื่อนไหวและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Thaiforexreview
ติดตามข่าวสารการลงทุนและบทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์ได้ที่ Forex Analysis
อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ Blogs
อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมได้ที่ Top Brokers